นับจำนวนผู้เข้าชม

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บุคคลสำคัญในประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี



สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นสามัญชนโดยกำเนิดในตระกูลแต้ ทรงพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง ออกจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อนางนกเอี้ยง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นธิดาขุนนาง ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือเป็นธิดาของเจ้าเมืองเพชรบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลักฐานส่วนใหญ่เชื่อว่า ทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถพิเศษด้านกฎหมาย ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความ ของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนือง ๆ มีความชอบในแผ่นดิน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งพระยาตาก ระหว่างเวลา 15 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์ทรงรวบรวมชุมชนไทย ที่ตั้งตัวเป็นชุมนุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่น และรวมอาณาใกล้เคียงเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชอาณาจักรธนบุรีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระชนม์พรรษาได้ 48 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ในประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี
กัปตันเหล็ก เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษที่เข้ามามีบทบาทในกิจการค้าขายในแถบหัวเมือง มลายู ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทำความดีความชอบ โดยการจัดหาอาวุธปืนมาถวายแก่พระมหากษัตริย์ไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระยาราชกปิตัน" บางครั้งจึงเรียกเป็นพระยาราชกปิตันเหล็ก กัปตันเหล็ก หรือ ฟรานซิส ไลท์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2283 ที่เมืองคัลลิงตัน ในซัฟฟอร์ค เคยเป็นนายทหารเรือแห่งราชนาวีอังกฤษ แต่ภายหลังหันมาทำการค้าขาย ได้มาตั้งบ้านเรือน ทำการค้าขายอยู่ที่เกาะถลาง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2314 รู้จักสนิทสนมกับพระยาถลางภักดีภูธร และคุณหญิงจันทร์ ทั้งยังเป็นที่รู้จักนับถือของชาวเมืองทั่วไปด้วย ในปีถัดมาก็ได้สมรสกับ มาร์ติน่า โรเซลล์ สตรีเชื้อสายโปรตุเกสไทยและมาเลย์ มีบุตร 5 คน ชื่อ ซาร่าห์ วิลเลียม แมรี่ แอน และฟรานซิส ในปี พ.ศ. 2319 กัปตันเหล็กได้ส่งปืนนกสับ เข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และภายหลังได้เป็นผู้ติดต่อซื้ออาวุธ ให้แก่ทางราชการ พร้อมๆ กับทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญให้อังกฤษ ได้เจรจากับสุลต่านแห่งไทรบุรี ขอเช่าเกาะปีนังเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2329 จึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษ ให้เป็นผู้ว่าราชการเกาะปีนัง และตั้งชื่อเกาะปีนังใหม่ว่า เกาะปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ (Prince of Wales Islands) กัปตันเหล็กได้ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2337
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นนักรบที่สามารถและเป็นกำลังของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการกอบกู้อิสรภาพ และยังทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการปกป้องประเทศ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนกชนนี กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติใน พ.ศ. 2286 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับราชการตำแหน่งนายสุจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ ภายหลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว ได้ไปอยู่ที่เมืองชลบุรี ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยาตาก มาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี จึงพาผู้คนไปเป็นพรรคพวก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระมหามนตรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระมหามนตรีได้ตามเสด็จ มารับราชการยังกรุงธนบุรี และได้แสดงความสามารถในราชการสงครามจนเป็นที่ประจักษ์ หลังจากศึกปราบชุมนุมเจ้าพิมายใน พ.ศ. 2311 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย ต่อมาใน พ.ศ. 2313 ก่อนหน้าการปราบชุมนุมเจ้าพระฝางและหัวเมืองพิษณุโลก พระยายมราชในขณะนั้นได้ถึงแก่กรรม พระยาอนุชิตราชาจึงได้เลื่อนเป็นที่พระยายมราช จากนั้นเมื่อเสร็จศึกหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช อยู่ครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในช่วงหลังได้มีราชการสงครามครั้งสำคัญอีก 2 ครั้งคือ ที่เมืองเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2321 และที่กัมพูชาอันเป็นศึกในช่วงสุดท้ายที่เกิดขึ้นเวลาเดียวกับที่กรุงธนบุรีเกิดการจลาจล เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษกแล้ว ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2346
เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงฉิม เจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าหญิง เนื่องจากเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) หัวหน้าชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จยกทัพไปปราบชุมนุม เจ้านครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราชหนีไปพึ่งเจ้าพระยาตานี แต่ถูกคุมตัวส่งมาจำขังไว้ที่ธนบุรี และได้ถวายพระธิดาเป็นข้าบาทบริจาริกา เจ้าหญิงฉิมได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้เป็นพระสนมเอกที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี ซึ่งภายหลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสทั้งสามถูกลดพระยศเป็นที่พระพงษ์นรินทร์ พระอินทรอภัยและพระนเรนทราชา ตามลำดับ เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงฉิมสิ้นพระชนม์ปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน
เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สันนิษฐานว่า ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2304 ด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผู้บิดา เป็นที่โปรดปราน และทำความชอบมาก ดังนั้นคุณฉิมจึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระสนมเอก หรือที่เรียกกันว่า เจ้าจอมฉิมใหญ่ เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2322 พระชนมายุ 18 พรรษา หลังจากประสูติพระราชโอรส "เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์" ได้เพียง 12 วัน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตรย์ศึกกลับจากราชการสงคราม จึงได้จัดงานศพอย่างสมเกียรติยศทุกประการ ภายหลังเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ในฐานะพระราชธิดา เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ ส่วนเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ โปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต
เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้แตก เจ้าพระยาจักรี (แขก) ข้าราชการชาวมุสลิม ซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงนายศักดิ์ ชื่อเดิม "หมุด" ไปราชการที่จันทบุรี หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว จึงตกค้างอยู่ ณ เมืองจันทบุรี และได้มาเฝ้าถวายตัว กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รับราชการงานทั้งปวง ด้วยเป็นข้าราชการเก่า รู้ขนบธรรมเนียมอย่างดี นอกจากนั้น ยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นแม่ทัพไปตีเมืองต่างๆ ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมในคราวปราบชุมนุมต่างๆ รวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราชด้วย เจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่อสัญกรรมในปีเถาะ พ.ศ. 2314
เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ประสูติแต่ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ (เจ้าครอกหญิงใหญ่) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2322 หลังจากประสูติ ได้ 12 วัน พระราชมารดาก็สิ้นพระชนม์ ได้รับพระนามเมื่อประสูติว่า เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ แต่คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอยู่ในฐานะพระราชนัดดา ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ พวกข้าราชการเรียกพระนามโดยย่อว่า "เจ้าฟ้าอภัย" รัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่าไปพ้องกับพระนามเจ้าฟ้า 2 พระองค์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงโปรด พระราชทานนามใหม่เป็น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ทรงมีวังที่ประทับอยู่ที่ถนนหน้าพระลานด้านตะวันตกที่เรียกว่า "วังท่าพระ" เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต คิดการกบฏ แต่ถูกจับได้ หลังจากไต่สวนได้ความเป็นจริงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้นภาลัย จึงโปรด ให้ชำระโทษถอดพระยศ แล้วนำไปประหารที่วัดปทุมคงคา ส่วนผู้ร่วมคิดการกบฏคนอื่น ๆ ได้ถูกประหารชีวิตที่สำเหร่ ในครั้งนั้น พระโอรสพระธิดา ในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตถูกสำเร็จโทษด้วย จึงไม่มีผู้สืบสายสกุล
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระนามเดิมว่า "จุ้ย" เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระอัครมเหษี กรมหลวงบาทบริจา มีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ดำรงตำแหน่งรัชทายาท ทรงช่วยราชการทำศึกสงครามอย่างหนัก มาตลอดพระชนม์ชีพ ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงให้แต่งทัพขึ้นไปตีกัมพูชาในกลาง พ.ศ. 2324 เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ผนวชอยู่ ก็ได้ทรงลาผนวชและเสด็จเป็นทัพหนุนในศึกครั้งนั้นด้วย เนื่องจากสมเด็จพระบรมชนกได้มีพระราชดำริจะทรงสถาปนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา แต่เกิดเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแผ่นดินเสียก่อน เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ยังคงประทับที่กัมพูชา เมื่อผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน จึงได้หนีไปยังเขาน้อย แต่ก็ถูกจับได้ และทรงถูกสำเร็จโทษตามพระราชบิดา พร้อมกับพระยากำแหงสงคราม นายทหารผู้ร่วมกรำศึกมาทุกสมรภูมิ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงเป็นต้นราชสกุล สินสุข และ อินทรโยธิน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระนามเดิมว่า ด้วง ประสูติในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนาเมืองธนบุรี ขึ้นเป็นราชธานี จึงได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี โดยได้รับการชักชวนจากน้องชายคือ นายสุจินดา หรือ บุญมา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาแต่ก่อนแล้ว ทำให้ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่สูงขึ้น คือ ได้เป็นพระราชวรินทร์ สังกัดในกรมพระตำรวจใน พ.ศ. 2311 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นแม่ทัพคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในราชการศึกสงครามหลายครั้งหลายคราว ตลอดสมัยกรุงธนบุรี ราชการทัพสำคัญของพระองค์ใน พ.ศ. 2323 เกิดจลาจลขึ้นในกัมพูชา เสด็จเป็นแม่ทัพไปปราบปรามแต่ยังไม่ทันสำเร็จเรียบร้อย ทางกรุงธนบุรีเกิดการจลาจล จึงต้องรีบยกทัพกลับมาปราบปรามระงับเหตุวุ่นวายในกรุงธนบุรี จนสงบราบคาบ ข้าราชการและราษฎรทั้งปวง พร้อมใจกันอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา
พระยาพิชัย มีชื่อเดิมว่า จ้อย ต่อมาได้ชื่อว่า "ทองดี" เป็นบุตรชาวนา อยู่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตด์) ได้ศึกษาวิชามวยกับครูที่มีชื่อหลายคน ออกชกมวย จนมีชื่อเสียง และได้หัดฟันดาบที่สวรรคโลกจนเก่งกล้าเมื่อมีโอกาสได้ไปเมืองตาก เป็นช่วงที่มีงานถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และมีมวยฉลองด้วยพอดี นายทองดี หรือที่ได้รับสมญาเรียกว่านายทองดีฟันขาว ก็เข้าเปรียบกับมวยชั้นครูและชกชนะสองคนรวด พระเจ้าตากเห็นฝีมือนายทองดีฟันขาวเช่นนั้น ก็ทรงชวนให้ไปอยู่ด้วย ต่อมาได้รับราชการเป็นหลวงพิชัยอาสา ในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงช่วงก่อนสิ้นกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อครั้งพระยาตาก (สิน) ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา หลวงพิชัยอาสาเป็นกำลังตีฝ่ากองทัพพม่าออกไปด้วย หลังจากที่ซ่องสุมผู้คน และเตรียมกำลังรบอยู่ที่เมืองจันทบุรี จนพอเหมาะแก่การรุกไล่ทัพพม่าแล้ว พระเจ้าตากจึงยกกองทัพเรือขึ้นมาตีเมืองธนบุรีได้ แล้วให้หลวงพิชัยอาสา เป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ครั้นเมื่อพระเจ้าตากได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงพิชัยอาสาเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ทหารเอกราชองครักษ์ ตลอดระยะเวลาที่ทำสงครามปราบชุมนุมต่าง ๆ เพื่อรวมไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น หลวงพิชัยอาสาหรือเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้ถือดาบออกหน้าทหารอย่างกล้าหาญสู้อย่างเต็มความ สามารถ จนได้เลื่อนเป็นพระยาสีหราชเดโช และเป็นพระยาพิชัยได้ครองเมืองพิชัยในที่สุด เมื่อพระยาพิชัยเป็นเจ้าเมืองพิชัยอยู่นั้น โปสุพลาได้ยกทัพลงมาตีเมืองพิชัย คราวนั้นพระยาพิชัย ได้ถือดาบสองมือ คุมทหารออกต่อสู้ป้องกันพม่าจนดาบหัก เป็นที่เลื่องลือจนได้นามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" ชีวิตราชการของพระยาพิชัยดาบหักน่าจะรุ่งเรือง และเป็นกำลังป้องกันบ้านเมือง ได้เป็นอย่างดีในแผ่นดินต่อมา หากแต่พระยาพิชัยดาบหักเห็นว่าตัวท่าน เป็นข้าหลวงเดิมของพระเจ้าตาก เกรงว่านานไปจะเป็นที่ระแวงของพระเจ้าแผ่นดิน และจะหาความสุขได้ยาก ประกอบกับมีความเศร้าโศกอาลัย ในพระเจ้าตากอย่างมาก จึงได้กราบทูลว่าจะขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตาก ดังนั้นจึงได้ถูกประหารชีวิต เมื่ออายุได้ 41 ปี พระยาพิชัยดาบหัก เป็นต้นตระกูล วิชัยขันธะ
เจ้าเมืองชลบุรี เดิมชื่อนายทองอยู่ นกเล็ก เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปถึงเมืองระยองได้ทรงทราบว่านายทองอยู่ นกเล็ก กับกรมการเมืองระยอง สมคบกันรวบรวมผู้คนจะยกมาประทุษร้ายพระองค์ จึงวางแผนซ้อนซุ่มโจมตีกองทหารของทั้งสองแตกกระจายไป ส่วนนายทองอยู่ นกเล็ก หนีไปอยู่เมืองชลบุรี ภายหลังได้ยอมเข้ามอบตัวมาสวามิภักดิ์ จึงโปรดตั้งให้เป็นพระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทรครองเมืองชลบุรี แต่ต่อมาปรากฏว่าประพฤติมิชอบ ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นเรือสำเภา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเคลื่อนทัพมุ่งไปยังปากน้ำเจ้าพระยาได้ทราบความ จึงหยุดประทับไต่สวนที่เมืองชลบุรี ได้ความว่าพระยาอนุราชผิดจริง จึงถูกประหาร ชีวิต
หลวงพิชัยราชาเป็นนายทหารผู้หนึ่ง ที่ได้ติดตามพระเจ้าตาก ตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปสะสมผู้คนที่เมืองระยอง และเป็นทูตนำอักษรสาร ไปเกลี้ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐี ณ เมืองพุทไธมาศ ให้มาเข้าเป็นพวกได้สำเร็จ ภายหลังเมื่อพระเจ้าตากปราบเมืองจันทบุรีได้แล้ว หลวงพิชัยราชามีหน้าที่ควบคุมดูแลการต่อเรือรบ และเป็นกองหน้า ตีตะลุยขับไล่พม่าตั้งแต่เมืองธนบุรีไปจนถึงโพธิ์สามต้น หลวงพิชัยราชาได้เป็นทหารเอกของพระเจ้าตากตลอดมา จนเมื่อพระเจ้าตากปราบดาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระกรุณาสถาปนาหลวงพิชัยราชาขึ้นเป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา ต่อมาเมื่อตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก ครองเมืองสวรรคโลก ครั้นเมื่อคราวโปสุพลาและโปมะยุง่วน หนีออกจากเมืองเชียงใหม่ได้ ทางด้านค่ายเจ้าพระยาสวรรคโลก เจ้าพระยาสวรรคโลก จึงต้องโทษโบย 50 ที และเข้าใจว่าคงจะถูกย้ายเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้น จนกระทั่งถึงอสัญกรรมในราวปี พ.ศ. 2319

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น